นับถึงปัจจุบัน ทุกคนคงยอมรับว่าการสื่อสารแบบไร้สายกลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา ๆ ท่าน ๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือที่นิยมเรียกกันว่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการเติบโตและแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ในโอกาสที่ผู้เขียนได้รับการชักชวนจากกองบรรณาธิการนิตยสารอินเตอร์แมกาซีน ให้ทำหน้าที่นำเสนอบทความพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ จึงขอนำเสนอภาพโดยทั่วไปเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายประเภทนี้ เริ่มต้นจากอดีต สู่ปัจจุบัน และต่อเนื่องไปยังอนาคตอันใกล้ทั้งนี้ในช่วงแรกการดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยนั้นมีผู้ให้บริการเพียงสองราย คือ ทศท. และการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ การขาดความชำนาญในการดำเนินนโยบายทางการตลาดของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งรวมถึงเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคแรก ๆ ที่มีราคาแพง ทั้งสองหน่วยงานจึงตัดสินใจเปิดให้เอกชนเข้าประมูลสิทธิการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้การดูแลของตน ในลักษณะการดำเนินการแบบ BTO ซึ่งหมายถึงเอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างเครือข่ายพร้อมกับโอนกรรมสิทธิอุปกรณ์เครือข่ายเหล่านั้นให้แก่หน่วยงานเจ้าของสัมปทาน โดยรัฐให้สิทธิเอกชนในการดำเนินกิจการเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยก็ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรูปแบบการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดอนาล็อคมาสู่ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันผู้ให้บริการในประเทศไทยมีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองระบบ โดยจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอลนั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สัดส่วนผู้ใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ชนิดอนาล็อคมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องการเติบโต ของยอดจดทะเบียนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย โดยคิดรวมกันจากทุกระบบ พบว่ามีการขยายตัวอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ซึ่งผู้อ่านสามารถพิจารณาได้จาก รูปที่ 1 โดยอัตราการเติบโตของจำนวนเลขหมายจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2543 เทียบกับปีก่อนหน้ามีค่าถึงร้อยละ 46.2 และมียอดจดทะเบียนสิ้นปีประมาณ 3.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งแม้จะเป็นการเติบโตที่สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในแวดวงโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ก็ไม่สามารถเทียบได้กับอัตราการเติบโตในปี พ.ศ. 2544 ที่สูงขึ้นเป็นร้อยละ 118.4 ทำให้ยอดรวมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7.9 ล้านเลขหมายการเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี พ.ศ. 2545 กลับมีความรุนแรงมากยิ่งกว่า โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 พบว่ายอดรวมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศพุ่งสูงขึ้งถึง 15.7 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราการเติบโตเท่ากับร้อยละ 97.9 ซึ่งหากประเมินยอดจดทะเบียนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2545 แล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่าปี พ.ศ. 2545 ถือเป็นปีทองของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสำนักวิจัยหลาย ๆ ฝ่ายก็เชื่อกันว่า น่าจะเป็นปีสุดท้ายที่จะได้เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศเริ่มเข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น ดังที่ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในภายหลัง