โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอีกปัจจัยในการดำรงชีวิตของมนุษย์ บางคนพกพามากกว่า 1 เครื่อง หากวันใดลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านก็จะรู้สึกขาดความมั่นใจทันที เนื่องจากโทรศัพท์ช่วยเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ได้ อีกทั้งในทุกวันนี้เมื่อเราเดินตามท้องถนนจะพบว่าวัยรุ่นคุยโทรศัพท์กันตลอดเวลา บางทีใช้ในการแชทคุยผ่าน Social Network หรือ เล่นเกมในมือถือ เป็นต้น
โทรศัพท์มือถือมีการส่งสัญญาณโดยใช้คลื่นวิทยุ จึงมีอันตรายโดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่การเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ และที่ผ่านมายังมีงานวิจัยที่ระบุว่า การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง กลุ่มผู้ที่ใช้มือถือที่จะเป็นมะเร็งสมองล้วนแต่มีประวัติการใช้มือถือมานานกว่า 10 ปี ทั้งนี้ มะเร็งที่ตรวจพบ ได้แก่ มะเร็งชนิด Gliomas หรือมะเร็งบริเวณระบบประสาท นอกจากนั้น ตำแหน่งที่เกิดมะเร็งจะเกิดขึ้นภายในศีรษะข้างที่ต้องแนบติดกับตัวเครื่องมือถือเป็นประจำ เบื้องต้นจึงตั้งสมมติฐานได้ว่า ความถี่และระยะเวลาของการใช้มือถือนั้นยิ่งนานเท่าไหร่ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งสมองมากขึ้น
เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากสมองและระบบประสาทยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นอกจากนี้ด้วยการที่เด็กมีศีรษะขนาดเล็กกว่าและกะโหลกบางกว่ายังทำให้คลื่นพลังงานจากโทรศัพท์มือถือสามารถทะลุทะลวงเข้าสู่สมองเด็กได้มากกว่า จึงทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ ยกเว้นเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ส่วนวัยรุ่นควรใช้อุปกรณ์แฮนด์ฟรีหรือชุดหูฟัง และควรใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อพิมพ์ข้อความเป็นหลัก สำหรับคนอายุ 20 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงจะลดลงเนื่องจากสมองมีการพัฒนาเต็มที่แล้ว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์มือถือ ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ใช้ไมโครโฟนแบบเสียบหูฟัง (Headset) หรือ Bluetooth เพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ที่มาจากโทรศัพท์มือถือพุ่งตรงเข้าที่สมอง
- เปิดลำโพงขณะคุยโทรศัพท์ แต่อาจไม่เหมาะนักสำหรับการคุยเรื่องส่วนตัว
- ใช้วิธีส่งข้อความแทนการพูด
- เลือกซื้อโทรศัพท์มือถือประเภทกำลังการกระจายรังสีต่ำ
- คุยโทรศัพท์ครั้งละสั้น ๆ
แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยยังไม่มีความแน่ชัด ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมาก ๆ จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในสมอง ทำให้มีการวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุป ทางด้านตัวผู้บริโภคเองก็ควรมีการป้องกันเบื้องต้นด้วย